Knowledge

ปวดข้อ
04/01/2561 16:29
โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบว่ามีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อน เนื่องจากมีปริมาณของโปรตีโอไกลแคน (proteoglycans) ลดลง ทำให้ความสามารถในการรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อลดลง เกิดอาการปวดขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก หรือมีกิจกรรมบนข้อนั้นๆ จากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนที่พบในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมดังกล่าวนี้ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการนำเอากลูโคซามีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสร้างโปรตีโอไกลแคนที่เป็นองค์ประกอบในกระดูกอ่อนมาใช้เพื่อรักษาหรือชะลอการเสื่อมของข้อในโรคข้อเสื่อม กลูโคซามีน (glucosamine) เป็นสารประกอบประเภทน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) ที่ปกติถูกสร้าง และพบในร่างกายของทุกคนอยู่แล้ว กลูโคซามีนจะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารขนาดโมเลกุลใหญ่ เช่น โปรตีโอไกลแคน, ไกลโคโปรตีน (glycoprotein), ไกลโคสามิโนไกลแคน (glycosaminoglycan), กรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid) สารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบในเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดของร่างกาย โดยจะพบได้มากที่กระดูกอ่อน (cartilage)ซึ่งจะอยู่ที่บริเวณส่วนปลายของกระดูกโดยเฉพาะที่ข้อต่อ กระดูกอ่อนนั้นประกอบด้วยเมทริกซ์ของเส้นใยคอลลาเจนที่มีโปรตีโอไกลแคนอยู่ภายใน โดยโปรตีโอไกลแคนเป็นสารโมเลกุลใหญ่ที่มีความสามารถในการดึงน้ำเข้ามาหาตัวเองได้ดี จึงทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้ ซึ่งจัดเป็นบทบาทสำคัญของกลูโคซามีนในเรื่องการทำงานของข้อ นอกจากนี้กลูโคซามีนยังมีผลยับยั้งการทำงานของสารอักเสบได้หลายชนิด จึงมีผลลดการอักเสบของข้อด้วย กลูโคซามีนที่มีจำหน่ายแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ตามการขึ้นทะเบียน คือ (1) ยาอันตราย และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันในขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียน รวมถึงเอกสารที่จำเป็นในการขอขึ้นทะเบียน กล่าวคือ กลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งจะต้องมีเอกสารยืนยันถึงการศึกษาทางการแพทย์ที่แสดงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารดังกล่าว และการใช้ยาจะอยู่ภายใต้การสั่งใช้จากแพทย์เท่านั้น ส่วนกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงใช้รับประทาน นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ และในการขอขึ้นทะเบียนไม่จำเป็นต้องแสดงการศึกษาทางการแพทย์ประกอบ สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้มีกลูโคซามีนชนิดที่เป็นยาอันตรายเท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และจำหน่ายในประเทศได้ ทั้งยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกลูโคซามีนมีจำหน่ายในรูปแบบของสารประกอบเกลือหลายชนิด เช่น เกลือซัลเฟต (glucosamine sulfate), เกลือไฮโดรคลอไรด์ (glucosamine hydrochloride), เกลือคลอโรไฮเดรต (glucosamine chlorohydrate หรือ N-acetylglucosamine) ซึ่งทำให้ขนาดโมเลกุลและคุณสมบัติอื่นๆ ของกลูโคซามีนมีความแตกต่างกันไป เช่น ความคงตัวเมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์ของกลูโคซามีนซัลเฟตยังมีการเติมโซเดียม หรือโปแตสเซียมในสูตรตำรับ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวเพิ่มขึ้น โดยกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตรายและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนกลูโคซามีนในรูปแบบอื่นจะขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ด้านประสิทธิภาพของกลูโคซามีนต่อโรคข้อเสื่อม พบว่าการศึกษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นการศึกษาโดยใช้กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulfate) ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับกลูโคซามีนซัลเฟตในขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 3 ปี ช่วยลดอาการปวด และช่วยลดการแคบของข้อได้เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา (หรือใช้ยาหลอก) แต่การใช้กลูโคซามีนซัลเฟตในระยะสั้น เช่น 3-6 เดือน พบว่าผลการศึกษามีทั้งสองแบบ คือ ให้ผลดีในการรักษา และไม่เห็นความแตกต่างในการรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา นอกจากนี้การศึกษาในผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อมก็ไม่แสดงประโยชน์เหนือกว่าการไม่ใช้ยาเช่นกัน สำหรับกลูโคซามีนในรูปแบบอื่นนั้น พบว่ามีการศึกษาทางการแพทย์บ้าง แต่เป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็ก จำนวนผู้ป่วยที่ใช้ศึกษาน้อย เช่น การใช้กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่ากลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ให้ประสิทธิภาพในการระงับปวดในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ไม่แตกต่างจากกลูโคซามีนซัลเฟต จากข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์ของกลูโคซามีนดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของกลูโคซามีนในโรคข้อเสื่อมนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น รูปแบบเกลือของกลูโคซามีน ตำแหน่งข้อที่เกิดการเสื่อม ขนาดยาที่ใช้ ระยะเวลาในการใช้ ซึ่งผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรับประทานกลูโคซามีน โดยเฉพาะในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาทั่วไป ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เข้าใจ หรือปรึกษาแพทย์/เภสัชกรเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับให้มากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้กลูโคซามีนแล้ว กลูโคซามีนในทุกรูปแบบยังมีข้อควรระวังและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วย ดังนี้ - อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากการรับประทานกลูโคซามีน คือ คลื่นไส้ ท้องเสีย แสบท้อง ปวดท้อง ท้องอืด นอกจากนี้ยังอาจพบอาการง่วงซึม ผื่นแพ้ผิวหนัง แพ้แสง ปากคอบวม (angioedema) หรือกระตุ้นให้เกิดการจับหืดได้ ควรระมัดระวังการแพ้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง ปู เพราะกลูโคซามีนที่มีจำหน่ายสังเคราะห์มาจากเปลือกของสัตว์ดังกล่าว ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะถ้าไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายการรักษา เพราะมีรายงานในสัตว์ทดลองว่ากลูโคซามีนทำให้การหลั่งอินซูลินลดลงได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่พบรายงานดังกล่าวในคนก็ตาม
VITAMIN B
03/01/2561 15:58
วิตามิน บี ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ทำหน้าที่ช่วยให้ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายเป็นไปโดยปกติ ภาวะที่ร่างกายอาจต้องการวิตามิน บี มากขึ้นกว่าปกติ ได้แก่ ผู้ที่รับประทานอาหารเจเป็นประจำ สตรีมีครรภ์* คนชรา ผู้ที่ร่างกายอ่อนเพลีย หรือพักฟื้นจากความเจ็บป่วย ใช้รักษาการขาดวิตามิน บี บำรุงร่างกาย และระบบประสาท วิตามินบี (Vitamin B) เป็นหนึ่งในวิตามินชนิดที่ละลายในน้ำได้ หรือที่เราเรียกกันว่า Vitamin B Complex แต่วิตามินบี ตัวนี้จะไม่สามารถเก็บไว้ในร่างกายของเราได้ โดยมันจะถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่ก่อนมันจะถูกขับออกมันได้สร้างประโยชน์ให้เราอย่างมหาศาล โดยตัว Vitamin B Complex นั้นจะทำหน้าที่เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตในร่างกายให้เป็นน้ำตาลกลูโคส ซึ่งร่างกายจะสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไปใช้ได้ และช่วยในกระบวนการเมตาโบลิซึมของไขมันและโปรตีน รวมถึงการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร เป็นกลุ่มของวิตามินที่มีความจำเป็นต่อเส้นประสาทและความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ โดยจะมีวิตามินบี 1, บี 2, บี 3,บี 5, บี 6 และบี 12 บางทีเรียกรวมกันว่า วิตามินบีรวม มีความสำคัญในการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา หรือทำให้ปฏิกิริยาต่างๆ ในร่างกายดำเนินไปได้ และคงจะเคยได้เห็นเคยได้ยินกันมาว่า วิตามินบีรวม หรือวิตามินบีคอมเพล็กซ์เนี่ย ส่วนมากคนวัยทำงานนอนดึกตื่นเช้ามักจะหาซื้อมาบำรุงร่างกายในรูปของอาหารเสริม เพราะเชื่อว่าในอาหารเสริมมีคุณค่าครบถ้วนกว่าวิตามินที่อยู่ในอาหารที่เรากินทุกมื้อ แต่จะจริงเท็จแค่ไหนก็ลองมาไขข้อข้องใจกันดูเลย !
17. คลายเครียดด้วยใบขี้เหล็ก
10/12/2560 19:21
17. คลายเครียดด้วยใบขี้เหล็ก จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้คนเราเครียดกันมากขึ้นทุกที สภาวะความเครียดหรือวิตกกังวล นำมาสู่การนอนไม่หลับ ซึ่งมักเป็นของคู่กันจนแยกไม่ออก ดังนั้นคนที่ร่างกายทนสภาพความอ่อนเพลียและหงุดหงิดจากการนอนไม่หลับไม่ได้ บางคนหันมาพึ่งยากันมากขึ้นแต่ว่ายาแผนปัจจุบันที่เป็นกลุ่มยาคลายเครียดหรือช่วยให้นอนหลับนี้ ก็เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งตามกฎหมายแล้วร้านขายยาจะขายไม่ได้ ยกเว้นแต่มีใบสั่งแพทย์เท่านั้น ดังนั้นถ้ามีทางเลือกใหม่ คือได้ยาจากธรรมชาติพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาคลายเครียด และช่วยให้นอนหลับมาใช้ทดแทนการบริโภคยาแผนปัจจุบันซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ใบขี้เหล็ก เป็นสมุนไพรไทยที่เป็นที่รู้จักและใช้มานานแล้วในรูปของอาหารซึ่งเราเอามาทำเป็นแกงขี้เหล็กนั่นเอง มีสรรพคุณช่วยในการระบาย ขับถ่ายง่าย ไม่มีของเสียตกค้าง ช่วยเจริญอาหาร สารเคมีที่มีอยู่ในขี้เหล็กมีชื่อว่า แอนไฮโดรบาราคอล ( Anhydrobarakol ) มีสรรพคุณช่วยคลายเครียด และยังมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอย่างอ่อนๆ อีกด้วย ปัจจุบันได้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตเป็นยาเม็ดสำเร็จรูปวางจำหน่าย และด้วยความที่เป็นพืชสมุนไพรการรับประทานมากและบ่อยๆจึงไม่มีอาการเป็นพิษนอกจากจะช่วยให้ขับถ่ายได้ดีในตอนเช้า ซึ่งก็เป็นข้อดีเพราะคนเราต้องขับถ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพของขาวลออเภสัช ยาเม็ดใบขี้เหล็ก ตราดอกว่าน สรรพคุณ : ช่วยให้นอนหลับ ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 1-4 เม็ด ก่อนนอน จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ยาเม็ดใบขี้เหล็กของขาวละออเภสัช ผ่านการวิจัยและพัฒนา ผลิตจากขบวนการที่ได้มาตรฐาน โดยใช้วิธีผลิตอิงตามภูมิปัญญาไทยที่ใช้ติดต่อกันมานาน จนพบว่ามีความปลอดภัย สามารถรับประทานก่อนนอนเป็นประจำได้ทุกวันโดยไม่มีผลข้างเคียง และได้รับอนุมัติทะเบียนตำรับยาโดยถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
16. จุดเด่นยาแก้ปวดเมื่อยเถาวัลย์เปรียง
08/12/2560 14:09
16. จุดเด่นยาแก้ปวดเมื่อยเถาวัลย์เปรียง เถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย สรรพคุณเด่นตามความรู้ของหมอยาพื้นบ้านคือ แก้กษัย รักษาปัสสาวะกะปริบกะปรอย แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นตึง และยังเป็นยาบำรุงสุขภาพคือเป็นทั้งยารักษาโรคและยาต้มบำรุงสุขภาพ ปัจจุบันเถาวัลย์เปรียง เป็นสมุนไพรที่ขายดีเป็นอันดับต้นๆ ในตำรับยาไทยระบุว่า รากเถาวัลย์เปรียง มีรสเฝื่อน แก้เส้นและกษัย แก้เส้นเอ็นขอด ใช้เถากินขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ไอ แก้หวัด แก้ปวดเมื่อย เถาวัลย์เปรียงจะถูกนำไปเข้าในตำรับยาแก้เส้น แก้กษัย แก้ปวดเมื่อย แก้เจ็บตามเส้น เจ็บตามกระดูก บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ ใช้ขับน้ำคาวปลา หลังคลอดบุตร ชำระล้างโลหิตเน่าเสีย แก้ท้องผูก ท้องเสีย แก้มุตกิดระดูขาว ขับปัสสาวะ และยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันอีกด้วย อาจใช้เป็นอาหารเสริมสุขภาพของผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเอดส์เป็นต้น ผลิคภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพของขาวลออเภสัช ยาเถาวัลย์เปรียง ชนิดเม็ด ตราดอกว่าน สรรพคุณ : บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ขนาดรับประทาน : ผู้ใหญ่ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายและกล้ามเนื้อที่ผลิตจากสมุนไพรล้วนๆ เช่นเถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน โคคลาน ที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ดีได้ผลไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแผนปัจจุบันที่มีส่วนประกอบของ Stearoids เช่น Prednisolone , Dexamethasone หรือกลุ่มเอนเสด ที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาแผลในกระเพาะอาหารตามมา ยาแก้ปวดเมื่อยเถาวัลย์เปรียงของขาวละออจึงเป็นทางเลือกที่ดีของการบรรเทาอาการปวดเมื่อย โดยไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาแผลในกระเพาะอาหาร
15. ดักไขมันลดหุ่นด้วยไคโตซาน
08/12/2560 13:01
15. ดักไขมันลดหุ่นด้วยไคโตซาน ไคโตซาน เป็น ไบโอโพลิเมอร์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ได้จากเส้นใยที่เรียกว่า “ไคติน”ซึงจะมีในเปลือก ปู กุ้ง และแกนในของปลาหมึก เป็นสารธรรมชาติที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และมีความปลอดภัยในการนำมาใช้กับมนุษย์ ไม่เกิดการแพ้ ไม่ไวไฟ และไม่เป็นพิษ ( non – phyto toxic ) ไม่เกิดผลเสียและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมต่อพืช นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ คุณสมบัติของไคโตซาน คือ ใช้ในการลดโคเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ฟื้นฟูสภาพผิวหนัง ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ไคโตซานเป็นตัวอย่าง ที่ชาญฉลาดของการจัดการกับกากของเสียจากอุตสาหกรรมอาหาร ที่ใช้กุ้ง ปู ปลาหมึก จากกระบวนการ Hydrolyse ไคโตซานถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายๆอย่างได้ อย่างน่าทึ่งในแทบทุกวงการ ทั้งการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม ส่วนประโยชน์ของไคติน-ไคโตซาน ในด้านความสวยความงามคือ สามารถลดความอ้วนได้ดีสุดยอดอย่างที่เราไม่อยากจะเชื่อ เมื่อไคตินนั้นได้กลายเป็นไคโตซานแล้ว ประจุบวกอันมหาสาลของไคโตซานจะเป็นที่ดึงดูดใจมากของเหล่ากรดไขมันอิสระ และโคเลสเตอรอลที่มีประจุลบ ดังนั้นเจ้าตัวต้นเหตุของความอ้วนทั้ง 2 ตัว ก็จะเกาะติดแจกับไคโตซาน และระบบย่อยอาหารของคนไม่สามารถย่อยไคติน-ไคโตซานได้ทั้งหมดจึงขับออกมาพร้อมกับอุจจาระโดยที่มีโคเลสเตอรอลและไขมันส่วนเกินตามออกมาด้วย ด้วยคุณสมบัติดักจับไขมันที่ดีกว่าใยพืชถึง 80 เท่าของไคโตซานขาวลออเภสัชจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไคโตซานชนิดแคปซูลเพื่อใช้ในการควบคุมน้ำหนัก ดักจับไขมันส่วนเกินได้ดี เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของคุณ กุ้ง ปู ปลาหมึก ของไทย ไม่เพียงแต่มีรสชาติดี เป็นที่ต้องการของทั่วโลก เปลือกกุ้ง กระดองปู และแกนในของปลาหมึก ก็เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่ดีของไคโตซานคุณภาพเช่นกัน ไคโตซาน เป็นอนุพันธ์เดียวกันกับ Glucosamine ซึ่งเป็นที่นิยมรักษาอาการปวดข้อ ปวดเข่า ในบางประเทศ ให้นักกีฬาที่ต้องใช้พลังของข้อและกระดูก เช่นนักกายกรรม บาสเก็ตบอล ทานไคโตซานเป็นอาหารเสริมเชื่อว่าจะเสริมกระดูกอ่อนได้ ป้องกันการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมและแข่งขัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพของขาวลออเภสัช ไคโตซาน แคปซูล เครื่องหมายการค้า คัมเมอรี่ สรรพคุณ : ควบคุมน้ำหนัก ดักจับไขมันส่วนเกิน ขนาดรับประทาน : ครั้งละ 2-3 แคปซูล ก่อนอาหาร ดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เป็นไคโตซานที่มีคุณภาพสูง ผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐาน GMP และ ISO 9001:2000
14. จุดเด่นสารสกัดกระเทียม
07/12/2560 17:40
14. จุดเด่นสารสกัดกระเทียม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพของขาวละออเภสัช มี 3 ชนิด กระเทียมสกัดชนิดแคปซูล อิมมิวนีท้อป สรรพคุณ : ช่วยลดความดัน โคเลสเตอรอล หวัด ภูมิแพ้ ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร กระเทียมสกัดชนิดเม็ด อิมมิวนีท้อป 2000 สรรพคุณ : ช่วยลดความดัน โคเลสเตอรอล หวัด ภูมิแพ้ จุดเด่น : เป็นเม็ดเคลือบฟิล์มไม่ก่อให้เกิดกลิ่นหรือแสบท้อง แต่ละเม็ดให้ปริมาณสารออกฤทธิ์ อัลลิซิน ในปริมาณสูงถึง 2,000 ไมโครกรัม ซึ่งมากกว่ากระเทียมสด 4 เท่า สารอัลลิซิน ช่วยลดความดัน โคเลสเตอรอล หวัด ภูมิแพ้ และป้องกันลำไส้อักเสบ ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง เวลาใดก็ได้ที่สะดวก แต่เวลาที่ดีที่สุดคือ 4 โมงเย็น – 6 โมงเย็น เพราะเป็นเวลาที่ร่างกายเริ่มสร้างไขมันสะสมในร่างกาย สำหรับชนิดแคปซูล อิมมิวนีท้อป มีประโยชน์เช่นเดียวกับ อิมมิวนีท้อป 2000 ชนิดแคปซูล แต่ละลายในกระเพาะอาหาร จึงให้ผลดีมากกับผู้ที่ต้องการดูแลระบบทางเดินหายใจ เช่นหวัด ภูมิแพ้ กระเทียมสกัด ชนิดเม็ด อลิเซีย ประโยชน์ : ช่วยลดอาการหวัด ภูมิแพ้ โคเลสเตอรอล ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง เวลาใดก็ได้ จุดเด่น ของผลิตภัณฑ์ - เป็นกระเทียมที่มาจากขนวนการสกัดที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน GMP - ผ่านกระบวนการ Spray drying จึงได้สมุนไพรสกัดที่เข้มข้นผ่าน มาตรฐาน Standardized - ผลิตภัณฑ์กระเทียมสกัด ชนิดเม็ดเคลือบฟิล์ม จึงสามารถรับประทานได้ทั้งก่อนนอนและหลังอาหารไม่ทำให้แสบท้องเนื่องจากการแตกตัวในลำไส้เล็ก และดูดซึมที่ลำไส้โดยตรงไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
13. กระเทียมสารพัดสรรพคุณ
07/12/2560 15:30
13. กระเทียมสารพัดสรรพคุณ กระเทียม ( Garlic ) เป็นเครื่องเทศประจำครัวไทย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่รู้จักหัวกระเทียมเป็นอย่างดี กระเทียมสด กลีบเล็กมีกลิ่นหอม ฉุนกว่ากระเทียมกลีบใหญ่ กลิ่นกระเทียมเจียวหอมชื่นใจ....เรียกน้ำย่อยได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่กระเทียมจะถูกนำมาใช้ปรุงรส แต่งกลิ่น และดับคาวอาหาร ใช้ได้กับอาหารคาว และของว่าง ไม่ว่าจะเป็นการต้ม ทอด นึ่ง และผัด เป็นต้องพึ่งกระเทียมร่ำไป หรือแม้กระทั่งขาหมูรสเลิศยังต้องมีกระเทียมคู่ใจเป็นเครื่องเคียงซึ่งเป็นความชาญฉลาดของผู้คิดจริงๆ เนื่องจากขาหมูมีไขมัน มีโคเลสเตอรอลสูงก็ได้กระเทียมนี่แหละที่ช่วยลดโคเลสเตอรอล ป้องกันโรคได้ดี คุณค่าทางอาหารและยา กระเทียมมีสารอาหารสำคัญๆ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส และเหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินซี ไนอาซิน และเส้นใยอาหาร โดยเฉพาะฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินบี 1ที่มีในปริมาณสูง ช่วยเสริมสร้างกระดูก และฟัน บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ บำรุงประสาทและ ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง หัวกระเทียมสดมีสารอัลลิซิน ( Allicin ) ที่สามารถลดปริมาณไขมันในเลือดได้ทั้งในคนปกติและในคนไข้ที่มีโคเลสเตอรอลสูง ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยปกป้องหลอดเลือดแดงไม่ให้แข็งเปราะ ควบคุมความดันให้เป็นปกติ แก้หวัดภูมิแพ้ ป้องกันเลือดจับตัวเป็นลิ่มที่จะก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และหัวใจขาดเลือด ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย ละลายลิ่มเลือด มีฤทธิ์ในการระงับอาการปวดท้อง ขับลมลดอาการจุกเสียด นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบในปากและคอ หรือใช้รักษาอาการทอนซิลอักเสบในระยะแรก และกระเทียมบดยังใช้ทาแก้กลาก เกลื้อนได้ดีอีกด้วยผลิตภัณฑ์กระเทียม มียอดจำหน่ายติดอันดับ 1-5 ของโลกตลอดมา และไม่ว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่มากมายเพียงใด กระเทียมไม่เคยตกจาก Top Chart และมียอดจำหน่ายอันดับหนึ่งของโลกในปี 2004 เคล็ดลับของกระเทียมอยู่ที่สารออกฤทธิ์ อัลลิซิน ซึ่งมีอยู่ 200 PPM W/W ซึ่งกลิ่นของหัวกระเทียมสดก็จะเป็นเช่นผักธรรมดา แต่เมื่อมีการทุบหรือบด ก็จะเกิดกลิ่นฉุนเฉพาะตัวซึ่งให้ความหอมในการปรุงอาหาร แต่อย่างไรก็ตามประโยชน์อันสูงส่งของกระเทียมไม่ได้อยู่ที่กลิ่นเท่านั้น เพราะกลิ่นเกิดจากการสลายตัวของอัลลิซิน ประโยชน์ต่อสุขภาพจึงไม่เต็มที่แต่อยู่ที่สารตั้งต้นคือ อัลลิซินซึ่งต้องใช้กระบวนการผลิตอันพิเศษกว่าการแปรรูปธรรมดาในการรักษาอัลลิซินให้คงสภาพไว้ได้ผลิตภัณฑ์กระเทียมทั้งหลายในโลกมักไม่มีสารอัลลิซิน หรือมีน้อยมาก บางชนิดก็ใช้ น้ำมันกระเทียมเจือจางกับน้ำมันพืช 1:400 หรือ 1:100 แล้วทำเป็นแคปซูลนิ่ม ซึ่งมักไม่มีอัลลิซินเช่นกัน และมีต้นทุนที่ต่ำมาก จึงจำหน่ายในราคาถูก ขาวละออเภสัช ได้รับความร่วมมือจาก GTZ เยอรมนี ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์อัลลิซินปริมาณสูงและคงตัว คือ 1,000 PPM ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดของเยอรมนี คือ 600 PPM โดยใช้เวลาพัฒนาตั้งแต่ปี 1991-1994 ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ อิมมิวนีท้อป ของขาวลออ จึงได้ประโยชน์จากกระเทียมสกัดสูงสุด เพราะโรคหลอดเลือดและหัวใจ เป็นสาเหตุการณ์ตายอันดับต้นๆของประเทศ และกว่าจะแสดงอาการ ไขมันก็สะสมมากแล้ว ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
12. สมุนไพรไทยสู่สากล
07/12/2560 13:40
12. สมุนไพรไทยสู่สากล สมุนไพร ( Medicinal Plant หรือ Herb ) กำเนิดจากธรรมชาติและมีความหมายต่อชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะในมิติทางสุขภาพ อันหมายถึงทั้งการส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรค ความหมายของยาสมุนไพร ในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ได้ระบุว่า “ ยาสมุนไพร ” หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ธาตุ ซึ่งมิได้ผสมปรุง หรือ แปรสภาพ สมุนไพรนับเป็นเทคโนโลยีพื้นบ้านที่สำคัญประการหนึ่ง ในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองของประชาชนไทย เป็นวิทยาการที่เหมาะสมในงานสาธารณสุขมูลฐาน สมุนไพรที่ส่งเสริมในงานสาธารณสุขมูลฐาน อาจกล่าวได้ว่าสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐานคือ สมุนไพรที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาโรคอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น สมุนไพรเดี่ยว และสมุนไพรแบบตำรับ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตจากสมุนไพร มีทั้งยาแผนโบราณ ( ยาไทย ) และพัฒนาเป็น “ ยาจากสมุนไพร ” ซึ่งใช้วิทยาการทางวิทยาศาสตร์ในการผลิต และควบคุมคุณภาพ ซึ่งมีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้นจากการผลิตยาแผนโบราณทั่วไป ปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นมาก หมวดผลิตภัณฑ์จึงไม่ได้มีแต่เพียงยารักษาโรคแผนโบราณ ( Traditional Medicine ) ดังเช่นสมัยก่อน แต่มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ( Herbal Supplement ) และยาสมุนไพร และยาจากสมุนไพร ( Herbal Medicine ) รวมทั้งชาสมุนไพร ( Herbal Tea ) เครื่องดื่มสมุนไพร ( Herbal Drink ) เครื่องสำอางสมุนไพร ( Herrbal Cosmetic ) และการผลิตยังมีการพัฒนากรรมวิธีการสกัด ( Herbal Extract ) สำหรับด้านคุณภาพนั้น ยังมีการวิเคราะห์ ( Analysis ) หาสารเทียบ ( Marker ) และหากทราบว่าสารใดเป็นตัวออกฤทธิ์ ก็สามารถปรับให้มีสารออกฤทธิ์ในปริมาณที่สม่ำเสมอตามที่กำหนด หรือเรียกว่า Standardization หรือ Standardize ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในด้านการบรรจุ บรรจุภัณฑ์ไม่เพียงแต่เป็นการนำส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังต้องมีบทบาทในการรักษาคุณภาพของสินค้าให้มีความสดใหม่ มีอายุยาวนานระหว่างที่จัดจำหน่าย และต้องมีหน้าที่ให้รายละเอียดที่เหมาะสมและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้บริโภคด้วย เฉพาะตัวพืชสมุนไพรเอง ประเทศไทย เป็นสวรรค์ของพืช เมื่อได้มาเพาะปลูกในเมืองไทยแล้ว ยังมีคุณภาพดีกว่าแม้ประเทศต้นตำรับเอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะ เรามีอุณหภูมิที่พอเหมาะ น้ำ และแสงแดดที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับเนื้อดินที่อุดม เนื่องจากเราตั้งอยู่ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ และปากอ่าว ในขณะที่เหนือประเทศไทยขึ้นไปคือ จีนและอินเดีย น้ำฝนไหลผ่านสองประเทศนี้ชะเอาดินอุดมมาตกที่ประเทศไทย ทำให้องค์ประกอบทุกด้านสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ พืชของไทยจึงมีผลผลิตต่อไร่ต่ำ เพราะไม่จำเป็นต้องออกลูกมาก และตัวมันเองก็ไม่ต้องผลใหญ่ เพราะไม่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ แต่คุณภาพภายใน สูงกว่าพืชจากประเทศต่างๆทั่วโลก หากคนไทยและรัฐบาลไทยเข้าใจพรสวรรค์ของประเทศไทย รู้จักใช้ประโยชน์ โดยไม่ทำลายพืชพรรณขนานแท้ของไทยเพียงเพื่อต้องการผลผลิตต่อไร่สูง เมื่อนั้นประเทศไทยจะเป็นที่นิยมของทั่วโลกว่ามีสมุนไพรคุณภาพสูงและสามารถสร้างราคาจากคุณภาพ แทนการหาเงินจากปริมาณ ซึ่งรังจะนำความยากจนแก่ประชาชนในภายหลัง
11. พระราชนิพนธ์
05/12/2560 10:06
11.พระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชสุดา สมุนไพรไทยนี้มีค่ามาก พระเจ้าอยู่หัวทรงฝากให้รักษา แต่ปู่ย่าตายายใช้กันมา ควรลูกหลานรู้รักษาใช้ต่อไป เป็นเอกลักษณ์ของชาติควรศึกษา วิจัยประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมัย รู้ประโยชน์รู้คุณโทษสมุนไพร เพื่อคนไทยอยู่รอดตลอดไป
10. สมุนไพรใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้จริงหรือ ?
12/11/2560 12:50
10. สมุนไพรใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้จริงหรือ ? การใช้ยาสมุนไพรร่วมกับยารักษาโรคแผนปัจจุบันมีรายงานการวิจัยพบว่าสมุนไพรที่นิยมใช้กันหลายชนิดเมื่อใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันอาจก่อให้เกิดอันตรกิริยากับยาแผนปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์และก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นหากมีการใช้สมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันควรแจ้งข้อมูลให้กับแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้ง ตัวอย่างอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน อาการไม่พึงประสงค์ แปะก๊วย วาร์ฟาริน ( Warfarin ) : ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เสริมฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออก แอสไพริน ( Aspirin ) : ยาแก้ปวด ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด กระเทียม วาร์ฟาริน ( Warfarin ) : ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เสริมฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออก อีนาลาพริล ( Enalapril ) แอมโลดิปีน ( Amlodipine )ยาควบคุมความดันโลหิต เสริมฤทธิ์ลดความดันโลหิต ทำให้ความดันโลหิตต่ำลงได้ ซิมวาสแตติน ( Simvastatin ) : ยาควบคุมระดับไขมันในเลือด กระเทียมทำให้ระดับยาซิมวาสแตตินในเลือดลดลงได้ แอสไพริน ( Aspirin ) : ยาแก้ปวด ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด กระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จีงเสริมฤทธิ์ของยาแอสไพริน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออก ซาควิน้เวียร์ ( Saquinavir ) รีโทนาเวียร์ ( Retonavir ) ยาต้าน HIV/AIDS กระเทียมมีผลลดระดับยาต้าน HIV/AIDS ในเลือด ชะเอมเทศ คอร์ติโคสเตียรอยด์ ( Corticosteroids ) : ยาต้านการอักเสบ อาการข้างเคียงของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพิ่มขึ้น เช่น กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกิดแผลในทางเดินอาหาร เป็นต้น ไทอะไซด์ ( Thiazide ) : ยาขับปัสสาวะ สูญเสียโพแทสเซียมในเลือด ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โสม ฟิเนลซิน ( Phenelzines ): ยาต้านซึมเศร้า อาการข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น เช่น ปวดศีรษะ เพิ่มการกระตุ้นระบบประสาท วาร์ฟาริน ( Warfarin ) : ยาต้านการแข็งตัวของเลือด โสมลดฤทธิ์การต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น มะขามแขก ไทอะไซด์ ( Thiazide ) : ยาขับปัสสาวะ เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานส่งผลให้สูญเสียโพแทสเซียมในเลือด ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฟ้าทะลายโจร ซิมวาสแตติน ( Simvastatin ) : ยาควบคุมระดับไขมันในเลือด ฟ้าทะลายโจรทำให้ระดับยาซิมวาสแตตินในเลือดสูงได้ แอสไพริน ( Aspirin ) : ยาแก้ปวด ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จีงเสริมฤทธิ์ของยาแอสไพริน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออก เห็ดหลินจือ แอสไพริน ( Aspirin ) : ยาแก้ปวด ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เห็ดหลินจือมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จีงเสริมฤทธิ์ของยาแอสไพริน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออก บัวบก อีนาลาพริล ( Enalapril ) แอมโลดิปีน ( Amlodipine )ยาควบคุมความดันโลหิต บัวบกมีผลทำให้ระดับยาอีนาลาพริล และ แอมโลดิปีน ในเลือดสูงขึ้น
9. ข้อแนะนำในการเลือกซื้อยาสมุนไพร
06/11/2560 15:20
9. ข้อแนะนำในการเลือกซื้อยาสมุนไพร ในปัจจุบันยาสมุนไพรอาจพบได้ในหลายรูปแบบ มีทั้งยาสมุนไพรที่ใช้เป็นยาเดี่ยวๆ ยาสมุนไพรที่ใช้เป็นตำรับ ซึ่งมีสมุนไพรหลายชนิดรวมกัน รวมถึงสมุนไพรที่นำมาดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาลูกกลอน ยาแคปซูล ยาตอกเม็ด เป็นต้น ในการเลือกซื้อยาสมุนไพร จึงต้องมีข้อสังเกตดังนี้ 1. ควรซื้อยาสมุนไพรจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาต และสินค้านั้นต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา 2. ไม่ควรซื้อยาสมุนไพรจากแผงขายตามท้องตลาดหรือแบบแบ่งขาย รวมไปถึงการซื้อจากการบอกเล่าของผู้อื่น โดยไม่ใช่แพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้โดยตรง เพราะอาจเสี่ยงที่จะเป็นยาสมุนไพรแบบไม่ได้มาตรฐาน มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ตามมาด้วยผลเสียต่อร่างกายในอนาคต 3. ลักษณะบรรจุอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุด 4. ก่อนซื้อยาสมุนไพร ควรดูฉลากยาทุกครั้งว่ามีข้อความดังต่อไปนี้หรือไม่ - ชื่อยา - เลขทะเบียนตำรับยา - ปริมาณของยาสมุนไพรที่บรรจุ - เลขที่ หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต - ชื่อผู้ผลิต และจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา - วัน เดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุของยา - มีคำว่า “ ยาแผนโบราณ ” กรณีเป็นยาแผนโบราณ - มีคำว่า “ ยาสามัญประจำบ้าน ” กรณีเป็นยาสามัญประจำบ้าน - มีคำว่า “ ยาใช้ภายนอก ” หรือ “ ยาใช้เฉพาะที่ ” ด้วยตัวอักษรสีแดงที่เห็นชัดเจน ในกรณีเป็นยาใช้ภายนอกหรือยาใช้เฉพาะที่
8. หลักการใช้ยาตา ? ใช้แบบไหนให้ถูกต้องและปลอดภัย
06/11/2560 11:18
8. หลักการใช้ยาตา – ใช้แบบไหนให้ถูกต้องและปลอดภัย ดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบางและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกายของเราทำให้เราสามารถมองเห็น รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว สามารถเดินเหินไปในที่ต่างๆและทำกิจกรรมได้อย่างไม่ขัดข้อง ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องมีการใช้ยาอย่างถูกต้องเพื่อที่จะบรรเทาอาการหรือรักษาอาการเจ็บป่วยของตาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการใช้ยาตา มีหลักการง่ายๆ ดังต่อไปนี้ ถูกโรค เนื่องจากยาสำหรับโรคตามีหลายชนิดที่ใช้กับโรคและอาการที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น น้ำตาเทียม ยาลดการระคายเคือง ยาแก้แพ้ ยาหดหลอดเลือด ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส ยาลดการอักเสบ ยาขยายม่านตา และอื่นๆ มีทั้งที่เป็นตัวยาเดียวและที่มีตัวยาหลายๆชนิดผสมกันอยู่ในผลิตภัณฑ์เดียว ดังนั้นถึงแม้ว่าจะหาซื้อได้ง่ายแต่การใช้ที่ผิดกับโรคก็อาจจะก่อให้เกิดอาการผิดปกติและเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ยาบางตัวมีข้อห้ามกับผู้ป่วยที่เป็นโรคบางประเภทดังนั้นจึงไม่ควรที่จะซื้อยารักษาโรคด้วยตนเอง และอย่าใช้ยารักษาตาของคนอื่นที่คิดว่าเป็นโรคเดียวกัน ถูกเวลา ควรหยอดยาตามเวลาที่แพทย์สั่งเพื่อประสิทธิผลที่สูงสุด ตัวอย่างยาตาที่ต้องหยอดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เช่น ยารักษาโรคต้อหิน หรือยที่ต้องหยอดตรงเวลา เช่น ยาต้านไวรัส ถูกขนาดและวิธี ปกติตาของคนเราจะมีความจุของเหลวประมาณ 0.01 มิลลิลิตร การใช้ยาแต่ละครั้งใช้แค่ 1 – 2 หยดเท่านั้น และในการใช้ยาตาทุกชนิด มีข้อควรระวังคือขณะใช้อย่าให้ปลายหลอดหรือหลอดบีบถูกต้องส่วนใดส่วนหนึ่งของตา เพราะอาจจะมีเชื้อโรคเข้าไปปนเปื้อนในยาได้ และภายหลังจากเปิดใช้แล้วควรปิดฝาให้สนิท ถูกลำดับขั้น ในกรณีที่ต้องใช้ยาตาหลายชนิดร่วมกัน หากเป็นยาหยอดตาทั้งสองชนิดให้เว้นระยะเวลาในการหยอดตาแต่ละชนิดให้ห่างกันประมาณ 5 นาที แต่หากต้องหยอดตาและป้ายตาในเวลาเดียวกัน ให้หยอดตาก่อนแล้วจึงค่อยป้ายตา เก็บรักษาถูกที่ ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ยาตาทุกชนิดต้องอยู่ในตู้เย็น การเก็บรักษายาตาบางชนิดห้ามเก็บในตู้เย็น บางชนิดสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้ซึ่งการเก็บในตู้เย็นนั้นจะต้องเก็บไว้ในช่องธรรมดา ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง หรือช่องบานประตูของตู้เย็น ( ที่เป็นช่องสำหรับใส่ไข่หรือใส่น้ำ ) ที่สำคัญคือยาตาทุกชนิดหากเปิดใช้ยาแล้ว จะมีอายุเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น หากยังมียาเหลืออยู่ ก็ไม่ต้องเสียดาย ให้ทิ้งไป ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากข้างขวดก็ตาม
7. การใช้ยาระบายกับภาวะท้องผูก
03/11/2560 16:17
การใช้ยาระบายกับภาวะท้องผูก
6.ข้อเข่าเสื่อม
26/09/2560 15:05
ข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาที่พบบ่อย บางท่านเริ่มจากมีอาการปวดเข่า เมื่อยตึงบริเวณหัวเข่าและน่อง เมื่อเคลื่อนไหวจะรู้สึกมีเสียงกรอบแกรบในข้อ โดยเฉพาะหลังจากตื่นนอนในตอนเช้าๆ ที่อากาศเย็นจะรู้สึกว่ามีการยึดติดของข้อ ไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิม เมื่อเป็นมากขึ้นก็จะมีการอักเสบบวม และจะสังเกตเห็นว่าข้อเข่าโก่งงอ มีอาการปวดเวลาเดิน อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเนื่องจากกระดูกอ่อนที่เคลือบบริเวณผิวข้อเกิดความผิดปกติและความเสื่อม รวมทั้งน้ำในไขข้อมีปริมาณที่ลดลง ทำให้เมื่อมีการเคลื่อนไหวจะเกิดการเสียดสีกันของกระดูกข้อต่อส่งผลให้มีเสียงดังและมีความเจ็บปวด สำหรับในการรักษาโรคข้อเสื่อมนั้น สิ่งที่สำคัญคือการรับประทานยาควบคู่ไปกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการดำเนินของโรค เช่นควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป หลีกเลี่ยงการนั่งขัดสมาธิ ไม่ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เป็นต้น ยาที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถจัดได้เป็นสองประเภท คือยาบรรเทาอาการปวด และยาชะลอความเสื่อมของข้อ ยาบรรเทาอาการปวด ยาใช้ภายนอก ได้แก่ เจลหรือครีมที่ทำจากส่วนประกอบของพริก น้ำมันไพล น้ำมันระกำ เป็นต้น ยาแก้ปวด พาราเซตามอล สามารถลดอาการปวดได้ดี แต่ไม่ลดอาการอักเสบของข้อ ยาแก้ปวดและลดอักเสบจำพวกสเตียรอยด์ มีทั้งชนิดรับประทาน และชนิดฉีดเข้าข้อ ยาประเภทนี้ ให้ผลการรักษาที่ไว แต่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูง ยาแก้ปวดและลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( ยาเอนเสด ) มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถแบ่งได้เป็นหลายกลุ่มขึ้นอยู่กับการพิจารณาเลือกในการรักษาของแพทย์ ยาชะลอความเสื่อมของข้อ กลูโคซามีน ช่วยในการสร้างน้ำที่เลี้ยงบริเวณข้อต่อ และช่วยให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนมีความหนาเพิ่มมากขึ้น คอลลาเจนชนิดที่สอง เป็นคอลลาเจนชนิดเดียวกันกับที่พบในผิวของกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อ มีการศึกษาพบว่าช่วยลดอาการปวดข้อและทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น อย่างไรก็ตามการรับประทานยาในกลุ่มนี้ไม่ได้ให้ผลในการระงับปวด ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการที่จะเห็นผลของการรักษาอาจจะเป็นเดือนหรือเป็นปีและใช้ไม่ได้ผลในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมมีความรุนแรงมากแล้ว
5.วิธีการเก็บรักษายา
26/09/2560 15:03
วิธีเก็บรักษายา อายุของยาขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บรักษา การที่ยาเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุมักเกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี การเก็บรักษายาที่ถูกต้องนั้น ควรเก็บยาให้ห่างจากความชื้น เก็บยาในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนเกินไป ซึ่งยาส่วนใหญ่สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้อง ยกเว้นยาบางชนิดแนะนำให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของยาก่อนกำหนด เช่นยาเหน็บทวารหนัก ยาหยอดตาบางชนิด เป็นต้นนอกจากนี้ควรเก็บยาให้พ้นจากแสงแดด โดยเฉพาะยาที่ไวต่อแสงควรเก็บในซองสีชา กรณีบางท่านมียาเหลือใช้อยู่มาก สามารถจัดการกับยาเหลือใช้ที่มีอยู่อย่างถูกต้องได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น สำรวจวันหมดอายุของยาที่มีทั้งหมด และรับประทานยาใกล้หมดอายุก่อน โดยก่อนใช้ยาควรตรวจสอบวิธีการใช้ยากับแพทย์หรือเภสัชกร เพราะแพทย์อาจปรับเปลี่ยนวิธีรับประทานและสามารถสังเกตได้จากฉลากยาครั้งสุดท้ายที่ไปพบแพทย์ หรืออาจนำยาที่เหลือใช้ทั้งหมดมาปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้านเพื่อดูว่าเป็นยาเสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้วหรือไม่
4.วิธีสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ
26/09/2560 14:53
วิธีสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ ในบางครั้งแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุ แต่การเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม มีความร้อนความชื้น ก็อาจทำให้ยาเกิดการเปลี่ยนแปลงจนเสื่อมสภาพและไม่ควรนำมาใช้ วิธีการสังเกตยาเสื่อมคุณภาพแต่ละชนิดอย่างง่ายสามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกของยา ร่วมกับการมีสี กลิ่นหรือรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น ยาเม็ด : เม็ดยาอาจมีสีเปลี่ยนไปร่วนแตกหักง่ายมีจุดด่างขึ้น ความมันวาวหายไป หรืออาจมีเชื้อราขึ้นส่วนในยาเม็ดเคลือบน้ำตาลอาจพบว่าเม็ดยามีการเยิ้มเหนียวเม็ดยาเกาะติดกันมีกลิ่นเหม็นหืนผิดไปจากเดิม เป็นต้น ยาแคปซูล : แคปซูลจะบวมหรือพองออก แคปซูลเกาะจับติดกัน ผงยาในแคปซูลเปลี่ยนสี ยาน้ำแขวนตะกอน : ตะกอนจะจับเป็นก้อนเกาะติดกันแน่นแม้ว่าจะเขย่าแล้วแต่ก็ไม่กระจายตัวกลับดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สี หรือรสเปลี่ยนไป ยาน้ำใสหรือยาน้ำเชื่อม : มีลักษณะขุ่น ผงยาละลายไม่หมด เกิดตะกอนจับเป็นก้อน มีความเข้มข้น สี กลิ่นรส เปลี่ยนไป ยาเม็ดฟู่ : หากยาที่ใช้ไม่เกิดฟองฟู่เมื่อละลายน้ำตามปกติ ให้สงสัยว่าอาจเสื่อมสภาพหรือหมดอายุ ยาขี้ผึ้งและยาครีม : เนื้อยาอาจแข็งหรืออ่อนกว่าเดิม เนื้อไม่เรียบเยิ้มเหลว แยกชั้น มีกลิ่น สี เปลี่ยนไป ยาหยอดตา : มีลักษณะขุ่นหรือมีการตกตะกอนของตัวยา หรือมีสีเปลี่ยนไป ยาแต่ละชนิดมีวันหมดอายุและสามารถเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุได้ ยิ่งยาที่เก็บไว้เป็นเวลานาน ยิ่งควรระมัดระวัง ดังนั้นก่อนใช้ยาใดๆก็ตามจึงควรสังเกตวันหมดอายุและสภาพของยาก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของท่านเอง
3.วิธีสังเกตยาหมดอายุ และยาเสื่อมคุณสภาพ
26/09/2560 14:53
วิธีสังเกตยาหมดอายุ และยาเสื่อมคุณภาพ การใช้ยาที่หมดอายุ และยาที่เสื่อมคุณภาพ จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง หรือไม่ให้ผลการรักษา นอกจากนั้นยาบางตัวยังอาจก่อให้เกิดพิษได้ จึงควรตรวจสอบวันหมดอายุและการเสื่อมสภาพของยาทั้งขณะที่ซื้อยาหรือได้รับยาครั้งแรก และเมื่อเก็บยาไว้นานๆ รวมทั้งควรเก็บยาไว้อย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้ยาเสื่อมคุณภาพก่อนเวลา ยาหมดอายุ การดูวันหมดอายุของยาที่ระบุบนกล่อง ฉลากหรือแผงยาก่อนใช้มีความสำคัญอย่างมาก และเมื่อพบว่ายาหมดอายุแล้วแม้ว่าลักษณะภายนอกของยาจะยังไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป วันหมดอายุหรือการเสื่อมสภาพของยา มีวิธีพิจารณาได้หลายวิธี 1. สังเกตวันหมดอายุที่บรรจุภัณฑ์ เช่น แผงยา กล่องยาหรือขวดยาปัจจุบันที่จะมีการปั๊มวันหมดอายุไว้ที่บรรจุภัณฑ์ โดยวันหมดอายุจะเขียนว่า “ Expiry Date” หรือ“ Exp. Date” หรือ “Used before”หรือ Expiring หรือ Use by ตามด้วย วัน-เดีอน-ปี ที่จะหมดอายุ เช่น Exp. Date 30/06/20 หมายความว่ายาจะหมดอายุในวันที่ 30 เดือนมิถุนา ปี 2020 2. สำหรับยาบางชนิดที่บรรจุภัณฑ์ไม่ได้ระบุวันที่หมดอายุไว้ เราจะคำนวณวันหมดอายุจากวันผลิต (ผู้ผลิตจะระบุวันที่ผลิตไว้เสมอ)ซึ่งจะเขียนว่า “ M.F.D” หรือ “ Mfg.Date” หรือ “ Manufacturing Date”ตามด้วย วัน-เดือน-ปี ที่ผลิต เช่น Mfg. Date 01/07/16 หมายความว่า ยาผลิตขึ้นวันที่ 1 เดือนกรกฎาคม ปี 2016 การคำนวณวันหมดอายุจะพิจารณาจากรูปแบบยาซึ่งยาแต่ละรูปแบบจะมีอายุที่แตกต่างกันไป เช่น ยาเม็ดมีอายุประมาณ 5 ปี จากวันผลิต สำหรับยาแคปซูล ยาน้ำ และยาครีมจะมีอายุประมาณ 3 ปีจากวันผลิต 3. กรณียาที่มีการเปิดใช้หรือมีการเปลี่ยนสภาพหรือแบ่งใส่บรรจุภัณฑ์อื่นจะมีการกำหนดวันหมดอายุให้สั้นลง เช่น ยาตา เมื่อเปิดใช้แล้วจะมีอายุไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่เปิดใช้ ยาผงปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง เมื่อละลายน้ำแล้วจะหมดอายุภายใน 7-14 วัน ยาเม็ดที่นับเม็ดและแบ่งออกมาใส่ซอง มีอายุ 1 ปี นับจากวันที่แบ่งบรรจุ แม้ที่บรรจุภัณฑ์จะยังไม่ถึงวันหมดอายุก็ตาม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการเก็บรักษาทำให้มีความชื้น ความร้อน หรือเชื้อจุลชีพที่ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้เร็วขึ้น การที่ยาหมดอายุแต่ยังมีลักษณะภายนอกไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเสมอไป เพราะในบางกรณีอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัยควรทิ้ง ไม่ควรนำมาใช้อีก
2.หลักการรับประทานยาในแต่ละช่วงเวลา
26/09/2560 14:52
หลักการรับประทานยาในแต่ละช่วงเวลา ยาก่อนอาหาร โดยทั่วไปควรรับประทานก่อนอาหารตอนท้องว่างอย่างน้อย 30 ถึง 60 นาที เพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดีและมีประสิทธิภาพในการรักษา ถ้ารับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร ยาอาจดูดซึมได้น้อยลง อาจทำให้ผลการรักษาน้อยลง ตัวอย่างยาก่อนอาหาร เช่น ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) กลุ่มเพนนิซิลลิน คลอกซาซิลลิน ไดคลอกซาซิลลิน ยาโรคหัวใจไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต เป็นต้น หากลืมรับประทานยาในช่วงดังกล่าวก็ให้รับประทานเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่หากใกล้เวลารับประทานยาในมื้อถัดไปอยู่แล้ว ให้รับประทานยาก่อนอาหารมื้อถัดไปแทนได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มยาเป็นสองเท่า ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่แนะนำให้รับประทานยาก่อนอาหารเพื่อให้ออกฤทธิ์ช่วงที่รับประทานอาหาร เช่น ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร โอมีพราโซล ( omeprazole ) ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น สำหรับยารักษาเบาหวานบางชนิดต้องรับประทานก่อนอาหาร เพื่อกระตุ้นตับอ่อน ให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาขณะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังจากกินอาหาร โดยทั่วไปแล้วยาเบาหวานรุ่นเก่ามักจะแนะนำให้กินก่อนอาหารประมาณ 30 นาที ส่วนยาเบาหวานรุ่นใหม่บางตัวสามารถกินก่อนอาหารทันทีได้ ขึ้นกับความเร็วในการกระตุ้นตับอ่อนของยาแต่ละตัว สำหรับยาเบาหวานที่ต้องกินก่อนอาหารนี้จำเป็นต้องรับประทานอาหารหลังกินยาเสมอ เพราะถ้าไม่กินอาหารฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าระดับปกติ จนอาจเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้ และหากลืมกินยาเบาหวานกลุ่มนี้ต้องระวังให้มาก เพราะถ้ากินยาหลังอาหารแทน ยาจะออกฤทธิ์ในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงไปแล้ว จึงอาจทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงไปมากกว่าเดิม มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดจะต่ำได้มาก อาจเว้นยาที่ลืมกินไปโดยไม่ต้องทานเพิ่มเป็นสองเท่า ยาหลังอาหาร-ยาหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหาร ยาที่ไม่มีปฏิกิริยากับอาหาร สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่นิยมให้รับประทานหลังอาหาร เพื่อจะได้กินยาเป็นเวลาและไม่ลืมกินยา โดยทั่วไปควรรับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15 นาที ถ้าลืมสามารถรับประทานยาได้ทันทีที่นึกได้ แล้วกินยามื้อต่อไปตามเวลาปกติแต่ถ้านึกขึ้นได้เมื่อใกล้มื้ออาหารถัดไปให้ข้ามมื้อที่ลืมไปเลยแล้วกินยาตามปกติไม่ควรเพิ่มการกินยาเป็นสองเท่า ยากลุ่มที่แนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหารมักเป็นยาที่มีความเป็นกรด หรือมีโอกาสระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหาร หรือทานแล้วอาจคลื่นไส้ได้มาก เช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบของกล้ามเนื้อ ยาแอสไพริน ยาด็อกซีไซคลิน เป็นต้น การรับประทานหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหารแล้วดื่มน้ำตามมากๆ จะช่วยเจือจางยาทำให้ผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยลง ยาก่อนนอน ควรรับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที ส่วนใหญ่ยากลุ่มนี้เป็นยาช่วยทำให้นอนหลับ หรืออาจเป็นยาที่มีผลข้างเคียงคือทำให้ง่วงนอนหรือวิงเวียนศีรษะมาก การรับประทานก่อนนอนจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ ยาลดไขมันในเลือดบางชนิดก็ให้รับประทานก่อนนอนเนื่องจากการสร้างคอเลสเตอรอลจะเกิดขึ้นมากในช่วงเวลากลางคืน ยารับประทานเวลามีอาการ ยากลุ่มนี้มักระบุในฉลากว่ารับประทานเวลามีอาการ เช่น รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการสามารถรับประทานยาได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร ถ้ายังมีอาการอยู่สามารถรับประทานซ้ำได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่ระบุไว้บนฉลากและเมื่อหายแล้วสามารถหยุดยาได้เลย
1.หลักการใช้ยาที่ควรปฏิบัติ
26/09/2560 14:52
หลักการใช้ยาที่ควรปฏิบัติ ภญ.อลิสา แป้นมงคล อ.ดร.ภญ.ภูริดา เวียนทอง สิ่งที่สำคัญในการเริ่มใช้ยาคือ การอ่านฉลากยาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกทางหรือถูกวิธี และถูกเวลา 1. ใช้ยาให้ถูกคน คนไทยเรามักมีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่การแบ่งปันยาของเราให้คนอื่น หรือเอายาไปแลกเปลี่ยนกันอาจเป็นอันตรายได้ แม้จะเป็นโรคเดียวกัน มีอาการคล้ายกัน แต่อาจมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน สภาวะพื้นฐานร่างกายของแต่ละคนก็แตกต่างกัน อาจเหมาะกับยาคนละอย่าง ยาที่ได้ไปอาจไม่ได้ผล หรือร้ายกว่านั้นคือเกิดปฏิกิริยากับยาที่ได้รับอยู่ หรือเกิดปฏิกิริยากับร่างกาย มีโอกาสแพ้ยาหรือเกิดพิษจากยาได้ 2. ใช้ยาให้ถูกโรค ยาแต่ละตัวมีสรรพคุณและวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกัน บางคนเป็นหวัดมีน้ำมูก แต่กินแค่ยาลดไข้ ก็จะยังคงมีน้ำมูกอยู่ เพราะไม่ได้กินยาลดน้ำมูก บางคนแค่มีอาการปวดหัว แต่กินยาที่มีตัวยา 3 ชนิดใน 1 เม็ดที่ใช้สำหรับแก้หวัด แก้ไข้ แก้ปวด ก็อาจหายปวดหัว แต่จะได้ยาอื่นโดยไม่จำเป็น อาการลักษณะเดียวกัน แม้จะเกิดขึ้นในคนเดียวกัน อาจเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน และการรักษาก็อาจแตกต่างกันได้ อาจไม่จำเป็นต้องได้ยาเดิมเสมอไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอไม่ควรซื้อยากินเอง หรือซื้อยาจากร้านที่ไม่มีเภสัชกร 3. ใช้ยาให้ถูกขนาด ควรดูฉลากว่าแพทย์หรือเภสัชกร ให้ใช้ยา ครั้งละกี่เม็ด หรือกี่แคปซูล หากได้รับยาน้อยเกินไป อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือหากได้รับยามากเกินไปก็อาจเกิดพิษจากยาได้ 4. ใช้ยาให้ถูกวิธี ควรอ่านฉลากยาและศึกษาวิธีการใช้ยาอย่างละเอียดทุกครั้ง เช่นยาให้ทางการกิน หรือยาใช้ภายนอก เช่นยาทาผิวหนัง ยาหยอดตา หรือเหน็บทวารหนัก เป็นต้น 5. ใช้ยาให้ถูกเวลา ดูว่าเป็นยาที่ต้องกินก่อนอาหารหรือหลังอาหาร หรือใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ และใช้วันละกี่ครั้ง
โครงการรณรงค์ ชุมชนนี้ใช้ยาถูกวิธี
12/09/2560 11:30
โครงการรณรงค์ “ ชุมชนนี้ใช้ยาถูกวิธี ” วันที่ 1 – 30 กันยายน 2560 สถานบริบาลทางเภสัชกรรมบีโต้ฟาร์มาซี ขอเชิญ ท่านสมาชิกบีโต้และลูกค้าทุกท่าน นำยาที่ท่านใช้อยู่หรือเหลือใช้มาเพื่อให้เภสัชกร ช่วยตรวจดูยาและ ให้คำปรึกษาการใช้ยา อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และ ปลอดภัย Tel : 02-580-8880 e-mail : btoworldthailand@gmail.com www.btopharmacy.com